วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พลาสเตอร์ยานาโน

พลาสเตอร์ยานาโนรักษาแผลเบาหวาน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้ว สิ่งที่พวกเขาหวาดกลัวมากที่สุดคือ แผลที่อาจเกิดขึ้นบริเวณเท้า ซึ่งรักาให้หายยาก และท้ายที่สุดต้องลงเอยที่การตัดเท้าทิ้ง พลาดเตอร์ยาที่ใช้ระบบส่งยาอนุภาคระดับนาโน สามารถช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น นักวิจัยศูนย์นาโนเทคพัฒนาพลาสเตอร์ยานาโนที่บรรจุยาปฏิชีวนะไว้ภายใน หวังใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในแผลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่หายยาก ชูจุดเด่นควบคุมการปลดปล่อยตัวยาได้ทั้งปริมาณและระยะเวลาตามต้องการ คาดอีกหนึ่งปีได้เห็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบพร้อมผลิตเชิงพาณิชย์แน่นอน ดร.อุรชา รังสาดทอง นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เปิดเผยว่า โครงการวิจัยเรื่อง "การผลิตเส้นใยนาโนของโพลิเมอร์เพื่อพัฒนาระบบนำส่งยาปฏิชีวนะ" เป็นความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพลาสเตอร์ยาสำหรับใช้รักษาแผลที่หายยากของผู้ป่วยโรคเบาหวาน งานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์นาโนเทคจำนวน 3 แสนบาท เป็นการดึงนาโนเทคโนโลยีมาช่วยในการนำส่งยาปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาแผลเฉพาะที่ ด้วยการใช้เทคนิคที่เรียกว่า อิเล็กโตรสปินนิ่ง (Electrospinning) หรือกระบวนการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิต เพื่อให้ได้เส้นใยขนาดนาโนออกมา ซึ่งโพลิเมอร์ที่ทีมวิจัยเลือกมาใช้ในครั้งนี้ ได้แก่ พีวีเอ (Polyvinyl alcohol : PVA) ส่วนตัวยาปฏิชีวนะที่จะนำมาบรรจุลงในเส้นใย คือ ซีฟาเล็กซิน (Cephalexin) มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้ดี จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เกิดเป็นแผลได้ง่าย เพราะมีระดับน้ำตาลในตัวปริมาณมาก เมื่อเป็นแผลแล้วก็จะหายช้า บางรายถึงขั้นต้องตัดอวัยวะที่ติดเชื้อทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้แผลเกิดการลุกลามก็มี สำหรับขั้นตอนการผลิต ดร.อุรชาอธิบายว่า ขั้นแรกต้องนำเอาตัวยามาละลายผสมกับโพลิเมอร์พีวีเอก่อน จากนั้นก็นำมาผ่านกระบวนการอิเล็กโตรสปินนิ่งให้ได้เส้นใยที่มีขนาดเล็กประมาณ 100-150 นาโนเมตร ซึ่งมียาปฏิชีวนะบรรจุไว้ภายใน จากขั้นตอนนี้ไปก็สามารถนำไปประยุกต์ทำเป็นแผ่นแปะหรือพลาสเตอร์ยาสำหรับใช้บริเวณผิวหนังได้ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในลักษณะนี้มีให้เห็นแล้วในต่างประเทศ เช่นในสหรัฐได้นำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตเครื่องแบบทหาร มีคุณสมบัติช่วยลดการติดเชื้อและช่วยระบายเหงื่อและอากาศให้ดีขึ้น ปัจจุบันทีมวิจัยของไทยชุดนี้ สามารถควบคุมการปลดปล่อยตัวยาสู่บาดแผลได้แล้ว เนื่องจากแผ่นแปะซึ่งอยู่ในรูปของเส้นใยขนาดเล็กระดับนาโน ทำให้สามารถปลดปล่อยตัวยาออกมาได้ช้าและต่อเนื่อง ต่างจากการใส่ยาปกติที่จะไม่มีความต่อเนื่องในการส่งยาไปสู่บาดแผล อีกทั้งตัวยาก็จะออกมาเร็วเกินความต้องการ และจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า เส้นใยนาโนที่ผลิตขึ้นมานี้ไม่มีพิษต่อเซลล์ร่างกายแต่อย่างใด ดร.อุรชา บอกว่าเคล็ดลับในการควบคุมการปลดปล่อยยาของเส้นใยนั้น ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนผสมระหว่างตัวยากับโพลิเมอร์ ขนาดของเส้นใย และชนิดของโพลิเมอร์ที่เลือกใช้ เช่น หากเลือกใช้โพลิเมอร์ที่ชอบน้ำ เวลาแปะลงไปที่ผิวหนัง เมื่อร่างกายมีเหงื่อเกิดขึ้น โพลิเมอร์ก็จะค่อยๆ ย่อยสลายและปล่อยตัวยาออกมาได้ "ตอนนี้กำลังทดสอบดูว่าต้องใช้ระยะ เวลานานแค่ไหนตัวยาถึงจะหมดแผ่น ซึ่งขณะนี้สามารถกำหนดระยะเวลาในการส่งยาจากแผ่นแปะไปยังแผลได้ประมาณ 2 วัน และขั้นต่อไปจะเป็นการพัฒนาให้อยู่ในรูปของพลาสเตอร์ยา คาดว่าหนึ่งปีก็น่าจะได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกมา หากสำเร็จก็จะเป็นทางเลือกใหม่ของระบบนำส่งยาทางผิวหนังได้" ดร.อุรชา กล่าว

>http://azooga.com/content_detail.php?cno=215

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น