ยาชานาโนซึมผ่านผิวหนัง
จุฬาฯประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโน ออกแบบระบบนำส่งยาชาในรูปแบบยาทาแทนยาฉีด เล็งสนองความต้องการธุรกิจความงาม รวมถึงการผ่าตัดในคนไข้เด็ก รศ.ดร.สุวบุญจิรชาญชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมงานอยู่ระหว่างพัฒนาระบบนำส่งยาชา ให้เป็นสารขนาดนาโนเมตรใช้ทาผ่านผิวหนัง เหมาะใช้ในธุรกิจศัลยกรรมความงาม และวางยารักษาผู้ป่วยเด็ก
การให้ยาชาก่อนผ่าตัดมักฉีดเข้าสู่บริเวณที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์ชา โดยเฉพาะการทำศัลยกรรมบนใบหน้า ทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บ แต่ยาชาที่บรรจุในแคปซูลนาโนไม่ต้องใช้เข็มฉีดเข้าสู่ร่างกาย เพียงแค่ใช้ยาเปิดผิวหนังเพื่อกระตุ้นผิวหนัง ก่อนทายาชาให้ซึมออกฤทธิ์บริเวณชั้นผิวหนังที่ต้องการ ยาชานาโนเป็นงานวิจัยใน โครงการพัฒนานาโนไคติน-ไคโตซาน เพื่อเป็นจุลยานต้นแบบของการนำส่งยาชาเฉพาะแห่ง
ทีมวิจัยเลือกใช้วัสดุไคโตซาน ซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้จากเปลือกกุ้งและกระดองปู เป็นสารนำส่งยาโดยควบคุมโครงสร้างให้เป็นวัสดุนาโน และออกแบบทิศทางให้โมเลกุลจัดเรียงตัวและรวมกลุ่มเป็นทรงกลม โดยมีช่องว่างอยู่ตรงกลางสำหรับบรรจุยา ความคืบหน้าของโครงงานวิจัย ปัจจุบันโมเลกุลยาชาและสายโซ่นาโนโพลีเมอร์ สามารถยึดติดกันเพียง 5-10% ซึ่งประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะออกฤทธิ์ชาได้เต็มที่ นักวิจัยต้องการการยึดติดอย่างน้อย 50% หรือยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่อให้ยาชามีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้นักวิจัยยังทดลองใช้สายโซ่ไคติน-ไคโตซานที่สั้นลง รวมถึงปรับปรุงวิธีบรรจุ ค้นหาหมู่สารโมเลกุลที่เป็นขั้วและไม่เป็นขั้วชนิดไม่เป็นสารพิษมาเติมลงไป รศ.ดร.สุวบุญ กล่าว
โครงการวิจัยระบบนำส่งยาชาแบบทายังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นและจะต้องพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ กระทั่งทดสอบในสัตว์และคนตามลำดับ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี จึงจะพร้อมทดสอบในคน
>http://news.mjob.in.th/technology/cat8/news2602/
วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น