วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552
ระบบนำส่งยา
การให้ยาแบบใหม่โดยผ่านโพลิเมอร์ไมโครชิปที่ฝังไว้ในร่างกาย
หากผลงานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยเกี่ยวกับการให้ยา (Drug delivery) แบบใหม่ประสบผลสำเร็จ การรับประทานยาที่แพทย์สั่งหรือการฉีดยาจะกลายเป็นวิธีที่เก่าแก่ล้าสมัยไปทันที วิธีที่นักวิจัยกำลังศึกษาได้แก่การประดิษฐ์โพลิเมอร์ไมโครชิปซึ่งสามารถเก็บยาไว้จำนวนเป็นช่องๆหลายช่องและนำไปฝังไว้ในร่างกายคนไข้ ยาจะถูกปล่อยออกมาอย่างอัตโนมัติตามช่วงเวลาที่วางโปรแกรมไว้
ตัวโพลิเมอร์ไมโครชิปมีขนาดเท่าเหรียญ 10 เซนต์ และบางเท่ากับกระดาษจะบรรจุด้วยแอ่ง (Reservoir) จำนวนมาก ในแต่ละแอ่งจะเก็บตัวยาตัวเดียวและปิดผนึกด้วยเยื่อ (Membrane) ซึ่งทำจากสารโพลิเมอร์ โดยการผันแปรความยาวของเส้นโพลิเมอร์ที่ประกอบเป็นเยื่อนั้น นักวิจัยสามารถโปรแกรมเยื่อให้แตกออกปล่อยตัวยาออกมาในระยะเวลาที่กำหนดไว้
กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวได้แก่ กลุ่มของ Massachusetts Institute of Technology (MIT) นำโดยนาย Robert Langer สามารถบังคับให้ยาปล่อยออกมาจากไมโครชิปในช่วง 35 ถึง 60 วันและคาดว่าจะพัฒนาให้ยาวนานถึง 140 วันได้
วิธีการแบบใหม่นี้เป็นการค้นพบที่สำคัญในวงการแพทย์เป็นการเปิดประตูไปสู่การบำบัดคนไข้ในรูปใหม่โดยเฉพาะกับคนไข้ที่ต้องใช้ยาเป็นช่วงๆ และมักลืมการรับประทานยาอยู่เสมอหรือกับการใช้วัคซีน เช่น วัคซีน Hepatitis B ซึ่งต้องมาหาแพทย์หลายๆครั้งเพื่อฉีดกระตุ้น เป็นต้น
ประโยชน์ของโพลิเมอร์ไมโครชิปแบบใหม่ที่ดีกว่าซิลิคอน ได้แก่ การที่โพลิเมอร์นั้นไม่จำเป็นต้องผ่าออกหลังจากยาหมดแล้ว เนื่องจากเป็นสารอินทรีย์สามารถย่อยสลายเองได้อย่างช้าๆจนหมดไปในที่สุด
ปัจจุบันกลุ่มนักวิจัย MIT สามารถประดิษฐ์โพลิเมอร์ไมโครชิปที่มีแอ่งบรรจุได้ 36 ช่อง คาดว่าจะพัฒนาได้เพิ่มมากขึ้น และอนาคตอันใกล้นี้บริษัท Micro CHIPs เมือง Bedford มลรัฐแมสซาจูเซท กำลังวางแผนเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์
(ที่มา: Science News, Volume 164, October 25, 2003)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น