วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Gel test

บทคัดย่อ (ไทย)
การตรวจหาปฏิกิริยาระหว่างแอนติเจนและแอนติบอดีของเม็ดเลือดแดง ใช้หลักการปฏิกิริยาที่จำเพาะแสดงออกให้เห็นในรูปของการจับกลุ่มของเม็ดเลือดแดง (hemagglutination) หรือการแตกของเม็ดเลือดแดง (hemolysis)

โดยทั่วไปใช้วิธีมาตรฐานหลอดทดลองในตัวกลางนำเกลือ ซึ่งวิธีทดสอบดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการตรวจหาแอนติเจนของเม็ดเลือดแดง (red cell typing) ตรวจกรองหาแอนติบอดีในซีรัม (antibody screening test) หรือตรวจหาชนิดของแอนติบอดี (antibody identification) ตลอดจนการทดสอบความเข้ากันได้ของเลือดก่อนให้ผู้ป่วย (crossmatching) ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่มีผลต่อการตรวจหาปฏิกริยาระหว่างแอนติเจนและแอนติบอดีของเม็ดเลือดแดงคือกระบวนการล้างเซลล์ก่อนเติมน้ำยา antihuman globulin serum และเทคนิคการเขย่าเพื่ออ่านผล ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและต้องมีประสบการณ์สูง โดยเฉพาะปฏิกิริยาที่ให้ผลบวกอย่างอ่อน (weak reaction) จึงมีผู้พัฒนาเทคนิค gel test มาใช้ในการตรวจหาปฏิกริยา โดยอาศัยหลักการให้ gel เป็นตัวกรองปฏิกิริยาการจับกลุ่มของเม็ดเลือดแดง โดยหลังจากนำ gel ไปปั่นในความเร็วที่เหมาะสม เม็ดเลือดแดงที่มีการจับกลุ่มจะค้างอยู่ด้านบนของผิว gel ส่วนเม็ดเลือดแดงที่ไม่เกิดการจับกลุ่มจะตกลงที่ก้นหลอด ทำให้ลดข้อผิดพลาดจากเทคนิคการปั่นและเขย่าอ่านผลได้ ในปัจจุบันมีบริษัทที่ผลิต gel test ออกจำหน่ายในท้องตลาดอย่างน้อย 4 บริษัท แต่มีราคาแพงมาก (ประมาณ 20-23 บาท ต่อการทดสอบ) ทำให้เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งของ gel test ที่จะนำมาใช้ในงานประจำวัน ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงมีความประสงค์ที่จะพัฒนาและผลิต microtube gel test ขึ้นใช้ในห้องปฏิบัติการคลังเลือด โดยใช้อุปกรณ์พื้นฐานที่มีใช้ในห้องปฏิบัติการ และปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่ต้องมีการตรวจสอบปฏิกริยาของเม็ดเลือดแดงเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อพัฒนาชุดการทดสอบโดยพึ่งพาเทคโนโลยีในประเทศ ลดการนำเข้าของผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศได้
------------------------------------------------

นักวิจัย ม.ขอนแก่น กับความสำเร็จในการพัฒนาชุดทดสอบ Microtube Gel Test
Source>http://www.myscientists.com/thai_technology/index.php?id=85

ดร.พลาเดช เฉลยกิตติ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี และ ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ คุณนพดล พันธุ์พานิช กรรมการ บริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามอนุญาติสัญญาให้ใช้สิทธิ “ชุดทดสอบเพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติบอดีต่อแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดง”
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ศูนย์ไบโอเทค ภายใต้สังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช. ได้สนับสนุน รศ.ดร.อมรรัตน์ ร่มพฤกษ์ คลังเลือดกลาง คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาชุดทดสอบเพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติเจน-แอนติบอดีต่อเม็ดเลือดแดง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดทดสอบ Microtube Gel Test เพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาการจับกลุ่มของเม็ดเลือดแดง

ในวันนี้ (7 ต.ค. 51) ได้จัดให้มีพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ “ชุดทดสอบเพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติบอดีต่อแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดง” ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์ พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และบริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ การวิจัยเพื่อพัฒนา ถือเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของการสนับสนุนทุนวิจัยของ ศูนย์ไบโอเทค เพื่อให้งานวิจัยเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนศักยภาพด้ายเทคโนโลยีของประเทศไทย ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มต้นจากตอบโจทย์ของหน่วยงานของผู้วิจัยเองที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นประจำ ต่อมาก็ถูกนำไปขยายออกไปในวงกว้าง เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ใช้งานในวงการเดียวกัน จนปัจจุบันถูกนำส่งต่อไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม กระบวนการดังกล่าวนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2547 ถือเป็นการเสริมปัจจัยเพื่อสนับสนุน การทำงานของนักวิจัยซึ่งเดิมมีอยู่แล้วในหน่วยงาน และจากการได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถปรับปรุง และพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและเป็นสถาบันชั้นนำของอาเซียน “การวิจัยครั้งนี้ได้มุ่งแก้ไขปัญหา การนำเข้าชุดทดสอบที่ใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติเจนและแอนติบอดีทางเลือด โดยได้ผลิตเพื่อใช้งานภายในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้ว ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจและนำมาสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตร” รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

การมอบสิทธิการถ่ายทอดเทคโนโลยี ชุดทดสอบ Microtube Gel Test นี้ให้แก่ บริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่เป็นสมาชิกของฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. “ดิฉันขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณค่า และบริษัท อินโนว์ฯ ที่ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของงานวิจัยนี้ จนนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ขอขอบคุณ ไบโอเทค และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่คอยสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์” ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าว

ด้าน ดร.พลาเดช เฉลยกิตติ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ภายใต้ฝ่ายฯการถ่ายทอดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยสามารถถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งทำให้สามารถเผยแพร่เทคโนโลยีไปสู่วงกว้าง”

คุณนพดล พันธุ์พานิช กรรมการ บริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ชุดทดสอบ Microtube Gel Test ได้ทำให้การตรวจหมู่เลือดของผู้บริจาคเลือดและผู้รับเลือด มีความถูกต้อง แม่นยำ สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้นจากวิธีดั้งเดิม และมีต้นทุนถูกกว่าสินค้านำเข้ามาก บริษัทจึงได้เสนอแผนธุรกิจสำหรับชุดทดสอบเจลสำหรับธนาคารเลือดแก่ไบโอเทคและมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้มีการประชุมกันทั้ง 3 ฝ่ายและมีความเห็นร่วมกันที่จะพัฒนาโครงการนี้สู่เชิงพาณิชย์ จึงได้เกิดพิธีลงนามในวันนี้ขึ้น”

ในสถานภาพปัจจุบัน ชุดทดสอบ Microtube Gel Test ที่ รศ.ดร.อมรรัตน์ พัฒนาสำเร็จ ได้มีการยื่นขอรับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาประเภทสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปประเทศไทยจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนา และผลิตขึ้นจากฝีมือนักวิจัยไทยกันอย่างแพร่หลายต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น