วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเทศไทย จะเอาอย่างไรกับนาโนเทคโนโลยี

Nanotechnology for Thailand?
(Published in What Thai Electronics Magazine in Thai)
ประเทศไทย จะเอาอย่างไรกับนาโนเทคโนโลยี ?

ดร. อดิสร เตือนตรานนท์
งานวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

เป็นที่รู้จักกันดีแล้วว่า นาโนเทคโนโลยี ทำให้เราก้าวมาถึงจุดที่เราสามารถออกแบบและผลิตวัสดุใหม่ๆ และอุปกรณ์เครื่องมือที่มีส่วนประกอบเล็กจิ๋ว เล็กจนถึงระดับเดียวกันกับอะตอมหรือโมเลกุล ซึ่งส่งผลให้มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าเดิมอย่างน่ามหัศจรรย์ วัสดุและอุปกรณ์เหล่านี้กำลังทยอยมาแทนที่วัสดุและอุปกรณ์แบบเดิมๆ ที่ใช้กันอยู่ในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เราสนใจ มีข้อมูลจากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่าตลาดโดยตรงของนาโนเทคโนโลยีของโลกนั้น คาดว่าจะเติบโตถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 40 ล้านล้านบาทไทย ท่านผู้อ่านลองคิดเล่นๆ เทียบกับงบประมาณแผ่นดินของเราปีละประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทเอาเองก็แล้วกันครับ ) ภายใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นด้วยศักยภาพของนาโนเทคโนโลยีที่สูงมากนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนานาโนเทคโนโลยีกันอย่างตื่นเต้น แม้ว่าจะต้องลงทุนอย่างมหาศาลในการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำนาโนเทคโนโลยีมาพัฒนาจนถึงระดับที่จะได้ผลิตภัณฑ์ (Nano product) ที่ใช้งานได้จริงเชิงพาณิชย์ รวมทั้งประเทศไทยของเราก็ให้ความสนใจเช่นกัน (มิฉะนั้นเราจะตกขบวนรถไฟอีกครั้งอย่างแน่นอน แต่เราคงต้องมีการวางแผนและยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับประเทศของเราเอง) ศูนย์คาดการณ์อนาคตของเขตเศรษฐกิจแถบเอเชียแปซิฟิกหรือ APEC Center for Technology Foresight ที่ตั้งอยู่ที่ประเทศไทยเราเอง ก็เคยจัดให้มีการศึกษาศักยภาพของนาโนเทคโนโลยีในอนาคตขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ผลการศึกษารายงานว่า นาโนเทคโนโลยีมิใช่เป็นเพียงเทคโนโลยีที่สำคัญและจำเป็นต่อประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น แต่ประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย ก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องศึกษา ค้นคว้า วิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันในตลาดของตัวเองและในตลาดโลกด้วย
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เดินหน้าตั้งศูนย์วิจัยและทุ่มงบวิจัยกันอย่างจริงจัง สิงคโปร์ประกาศโครงการวิจัยนาโนเทคโนโลยีตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2545 พร้อมๆ กันกับประเทศไต้หวัน โดยมีคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและสำนักงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเขาเป็นเจ้าภาพและลงทุนโครงการใหญ่ๆ เช่น การจัดตั้งเมืองแห่งเทคโนโลยีชีวภาพ (Biopolis) ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพนาโน (Nanobiotechnology) เป็นหลัก ส่วนประเทศมาเลเซียก็ไม่น้อยหน้าลงทุนสร้างเมืองแห่งไอที เรียกว่า supercorridor มุ่งเน้นด้านนาโนเกี่ยวกับแสง การสื่อสาร นาโนอิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุนาโนชนิดต่างๆ ส่วนอีกประเทศที่กำลังมาแรงก็คือประเทศเวียดนาม ก็ได้ริเริ่มโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติเช่นเดียวกัน โดยเน้นหนักด้านการสร้างบุคลากร อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน (ผมคิดว่าเพื่อรองรับการย้ายฐานของอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ) จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศก็จะมียุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันเป็นของตนเอง ส่วนประเทศไทยยังมีการลงทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ต้องพูดถึงประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเยอรมนี ญี่ปุ่น เป็นต้น ในประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ตื่นตัวในการลงทุนเพื่อพัฒนางานวิจัยและค้นคว้าทางด้านนี้เป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำโดยจัดตั้งโครงการความริเริ่มด้านนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Nanotechnology Initiative เรียกย่อว่า NNI) อย่างเป็นทางการจั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยจัดสรรงบประมาณเริ่มต้นเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท นับเป็นโครงการแห่งชาติที่ใช้จำนวนคนและงบประมาณวิจัยมากที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่โครงการอพอลโลที่สามารถส่งมนุษย์ไปเดินบนดวงจันทร์ นอกจากนี้งบประมาณของโครงการยังเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นเพียงไม่กี่โครงการที่ประธานาธิบดี จอร์ช บุช ได้สานต่อและขยายผลจนสามารถออกเป็นพระราชบัญญัติการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 (The 21th Century Nanotechnology Research and Development Act) โดยกำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อมีเป้าหมายให้เป็นผู้นำของโลก และกำหนดให้มีการลงทุนเป็นเงินถึง 150,000 ล้านบาทภายในเวลา 4 ปี นับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2548-2551 หรือโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 37,000 ล้านบาทต่อปี
ถึงแม้ว่าประเทศไทยเองยังไม่มีบุคลากรและการลงทุนวิจัยในด้านนี้มากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ก็มีการริเริ่มพัฒนาไปพอสมควร โดยมีการรวมกลุ่มนักวิจัยที่สนใจในนาโนเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ และจัดประชุมกันเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในประเทศเรา และเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลยุคนายกทักษิณได้ตระหนักถึงความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในอนาคต และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ให้จัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือเรียกชื่อย่อว่า NANOTEC ให้เป็นหน่วยงานภายใต้สำนกงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศให้พร้อมรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่นี้ และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้แก่ประเทศ ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ ก็ได้เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในนาโนเทคโนโลยีและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในลักษณะเครือข่าย (Network) ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศเกือบทุกแห่งทั่วประเทศ แต่เนื่องจากกำลังคนที่ขาดแคลน สัดส่วนนักวิจัยแต่จำนวนประชากรของเรายังน้อยมากแม้เมื่อเทียบกับประเทศในทวีปเอเชียด้วยกัน (ประเทศไทยมีนักวิจัยเพียง 2 คนต่อจำนวนประชากร 10,000 คน เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ มี 48 คน และประเทศญี่ปุ่นมี 73 คนต่อประชากร 10,000 คน) นโยบายยุทธศาสตร์ที่ไม่ชัดเจน ไม่มุ่งเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เรามีจุดแข็ง เช่น เราจะเน้นด้านนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้งานด้านอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรกรรมหรือไม่ และขาดการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศ อุตสาหกรรมในประเทศเองก็รอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลหรือไม่ก็ไม่กล้าที่จะลงทุนในเทคโนโลยีที่ยังต้องพัฒนาต่อ อุตสาหกรรมยังเห็นว่าคุ้มค่ากว่าถ้าซื้อเทคโนโลยีที่สำเร็จรูปแล้วมาจากต่างประเทศถ้าใช้ได้จริง และงบประมาณที่จำกัดจึงทำให้นาโนเทคโนโลยีในประเทศไทยยังเดินหน้าไม่เต็มที่ จะเห็นได้ว่างบประมาณวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเรายังน้อยมากเพียงร้อยละ 0.3 ของ GDP ของประเทศเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่สูงถึงร้อยละ 3 และสิงคโปร์ที่ร้อยละ 1.76 ของ GDP ของประเทศที่สูงมากกว่าเราอยู่แล้วหลายเท่าตัว

มาถึงจุดนี้นับตั้งแต่จัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติมาซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดปล่อยตัว START ด้านนาโนเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการของประเทศ ก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว คงต้องลองตั้งคำถามว่าท่านผู้อ่านเรียนรู้และเข้าใจนาโนเทคโนโลยีมากขึ้นบ้างหรือไม่ ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินและคุ้นเคยกับนาโนเทคโนโลยีกันบ้างไม่มากก็น้อย ท่านสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร จะประยุกต์ใช้มันให้มีประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจของท่านได้อย่างไร อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์หรือเกิดใหม่ในด้านนี้หรือไม่ อุตสาหกรรมจะปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่นี้ได้อย่างไร ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในนาโนเทคโนโลยีด้านใดด้านหนึ่งได้หรือไม่ เราเตรียมบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนี้มากพอแล้วหรือยัง (ข้อมูลที่พอหาได้ปรากฏว่าเรามีนักวิจัยที่ทำงานด้านนาโนเทคโนโลยีอยู่ไม่เกิน 130 คนทั่วทั้งประเทศ) อะไรคือ key success factor ของไทยในเรื่องนี้ ครั้งนี้อาจจะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งของคำปรามาสที่ว่าคนไทยเล่นกีฬาเป็นทีมไม่ได้ ทำงานเป็นทีมไม่สำเร็จ เพราะโดยพื้นฐานแล้วนาโนเทคโนโลยีต้องใช้ความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการผลงานเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้และผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ด้วยแล้ว เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องทำงานเป็นทีม คนหนึ่งทำวิจัยในส่วนหนึ่ง อีกคนทำวิจัยในอีกส่วนหนึ่งแล้วในที่สุดสามารถนำองค์ความรู้มาประกอบรวมกัน (integration) และเพื่อให้ man-year ของเราทั้งทีมเพียงพอที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สุดทาง ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ ไม่ใช่เป็นอย่างในปัจจุบันที่งานวิจัยหลายเรื่องเริ่มได้แต่ไม่มีวันจบ คำถามเหล่านี้คงต้องอาศัยนักวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีทุกคนในประเทศช่วยกันตอบ และคงต้องถามรัฐบาลในยุคนี้ว่าจะเอาอย่างไรกับมันดี เงินอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

>http://www.nectec.or.th/mems/news/up_detail.php?id=30

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น