วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แผนแม่บทนาโนของประเทศไทย

แผนแม่บทนาโนของประเทศไทย
ดร. อดิสร เตือนตรานนท์
ห้องปฏิบัติการวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
กรุงเทพธุรกิจ 2008 March, 07

เมื่อฉบับที่ผ่านมา ผมได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการพัฒนานาโนเทคโนโลยีในประเทศเกาหลีใต้เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นแนวทางการวางแผนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างแข่งขันกันเพื่อเป็นจ้าวแห่งนาโนเทคโนโลยี ยังมีแผนการพัฒนาคล้ายๆ กันในประเทศอื่นๆ อีกทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่เป็นแนวหน้าด้านเทคโนโลยีของโลก แต่ของประเทศเกาหลีนั้นน่าสนใจตรงที่เขาเป็นประเทศที่มีพื้นที่และจำนวนประชากรไม่ได้มากกว่าเรา ทรัพยากรก็จำกัด แต่เขามีการตั้งวิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนว่าภายในปี ค.ศ. 2015 เกาหลีให้ต้องเป็น top three ในโลกทางด้านนาโนเทคโนโลยีให้ได้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ต่างก็เดินหน้าตั้งศูนย์วิจัยและทุ่มงบวิจัยกันอย่างจริงจังเพื่อแข่งขันกันไม่ให้ตกขบวนรถไฟนาโนเที่ยวนี้ให้ได้ แล้วประเทศไทยของเราจะตกขบวนรถไฟเที่ยวนี้หรือไม่ถึงแม้ว่าประเทศไทยเองยังไม่มีบุคลากรและการลงทุนวิจัยในด้านนี้มากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ก็มีการริเริ่มพัฒนาไปพอสมควร โดยมีการรวมกลุ่มนักวิจัยที่ทำวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยและศูนย์แห่งชาติอื่นๆ จัดประชุมกันเพื่อช่วยกันร่างแผนแม่บทการพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งจะครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547-2556 โดยใช้กระบวนการของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการและระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติซึ่งเริ่มต้นและสิ้นสุดพร้อม ๆ กัน กลุ่มนักวิจัยในประเทศได้ผลักดันให้รัฐบาลยุคนายกฯทักษิณได้ตระหนักถึงความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในอนาคต และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ให้จัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือเรียกชื่อย่อว่า NANOTEC ให้เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศให้พร้อมรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่นี้ และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้แก่ประเทศ เนื่องจากผมเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการร่างแผนแม่บทนี้ด้วยในบางส่วน ในฉบับนี้ผมจึงอยากที่จะสรุปอย่างย่อๆ และเข้าใจง่ายๆ ถึงแผนเชิงกลยุทธ์และเป้าหมายของการพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีของไทยเราจากเอกสารที่ผมได้รับจาก สวทช. ให้ผู้อ่านได้ทราบและแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกียวกับแผนนี้ และจะลองเปรียบเทียบดูกับแผนของประเทศเกาหลีใต้ว่าเป็นอย่างไรกัน
แน่นอนเนื่องจากประเทศไทยเรารมีทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านบุคลากรที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่ขาดแคลน ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องจัดลำดับความสำคัญและเลือกเส้นทางการพัฒนาอย่างมีกลยุทธ์ กลยุทธ์หนึ่งที่นิยมใช้กันมากคือการเลือกอย่างเจาะจง (Niche area) ในเรื่องที่จะทำให้ประเทศไทยใช้ศักยภาพที่มีอยู่และมีโอกาสสูงในการพัฒนา ในแผนจึงระบุว่าประเทศไทยควรมุ่งเน้นการพัฒนานาโนเทคโนโลยีใน 3 สาขาวิชาการหลัก ได้แก่ นาโนวัสดุ (Nanomaterials) นาโนชีวภาพ (Nanobiotechnology) และ นาโนอิเล็กทรอนิกส์ (Nanoelectronics) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านเซ็นเซอร์ ทั้งที่ผลิตจากวัสดุทางชีวภาพและไม่ใช่สารชีวภาพ ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ตรวจจับหรือตรวจวัดก๊าซในงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ชุดตรวจวินิจฉัยโรค เป็นต้น กลุ่มอุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์แสดงผลแบบฟิล์มบาง เซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและบางลง เป็นต้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบนำส่งยาและสารสมุนไพร ตัวอย่างเช่น ยารักษาโรคเฉพาะจุด เครื่องสำอางนาโน ยาแบบใหม่ที่นำส่งสารออกฤทธ์ไปยังเป้าหมายเฉพาะ เป็นต้น กลุ่มวัสดุเคลือบนาโน ตัวอย่างเช่น วัสดุเคลือบผิวกันเปื้อนและฆ่าเชื้อโรค วัสดุเคลือบสิ่งทอกันน้ำ เป็นต้น กลุ่มวัสดุซับกรองและตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ตัวอย่างเช่น แผ่นกรองโมเลกุล ตัวเร่งปฏิกิริยาแบบรูพรุน เป็นต้น และกลุ่มวัสดุสารประกอบแต่ง (Composite) ตัวอย่างเช่น วัสดุเสริมความแข็งแรงด้วยท่อคาร์บอนนาโน พลาสติกแบบใหม่ที่ควบคุมการผ่านของก๊าซ เป็นต้น โดยการวิจัยและพัฒนามุ่งเน้นรูปแบบของคลัสเตอร์ (Cluster) ในการดำเนินการเป็นแบบเครือข่ายและใช้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยที่ไม่ได้เน้นเพียงด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมโดยต้องทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลและความรู้ระหว่างกัน ทั้งนี้จะต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนได้แก่ ทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การวิจัยและพัฒนาขั้นสูง และการสร้างความตระหนัก ตื่นตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคม
จากการดำเนินการตามแผนแม่บทนี้ (ถ้าเป็นไปตามแผนและมีประสทธิภาพ) เราคาดหวังเป้าหมายของการพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยในระยะเวลา ภายใน 10 ปีของแผนฯ ไว้หลักๆ ได้ 3 ประการ ได้แก่ หนึ่งคือประเทศไทยจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีดังที่กล่าวมาทั้ง 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์คิดเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (หรือ GDP นั่นเอง) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท สองคือ นาโนเทคโนโลยีของไทยจะต้องสามารถช่วยยกระดับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนไทยให้เข้าใกล้ในระดับมาตรฐานโลก โดยอาศัยการพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สามคือ ประเทศไทยจะอยู่ในแนวหน้าด้านการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีของภูมิภาคอาเซียน คราวนี้มาดูมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ได้กำหนดไว้ 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 คือผลักดันให้นาโนเทคโนโลยีเข้าหนุนการพัฒนาคลัสเตอร์เป้าหมายทั้ง 7 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร ยานยนต์ สิ่งทอและเคมี/ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าชุมชน พลังงานและสิ่งแวดล้อม การแพทย์และสาธารณสุข กลยุทธ์ที่ 2 คือ การพัฒนากำลังคนด้านนาโนเทคโนโลยี โดยจัดให้มีหลักสูตรทั้งในระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษาและบูรณาการความรู้ลงไปสู่ระดับตั้งแต่ประถมศึกษา กลยุทธ์ที่ 3 คือ การลงทุนวิจัยและพัฒนาในนาโนเทคโนโลยี โดยพัฒนาเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่และมีภาคเอกชนมาร่วมวิจัย กลยุทธ์ที่ 4 คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขีดความสามารถด้านเครื่องมือวิจัยและกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และกลยุทธ์สุดท้าย กลยุทธ์ที่ 5 คือ การสร้างความตระหนักในความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีต่อชีวิต และการดูแลความปลอดภัย ความเสี่ยงและมาตรการรักษาความปลอดภัยในการใช้นาโนเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ และจริยธรรมในการใช้งาน
จะเห็นได้ว่าแผนแม่บทได้วางกรอบไว้อย่างสวยหรูถึงทิศทางและเป้าหมาย รวมถึงยุทธศาสตร์ที่จะใช้ ถ้าเราเปรียบเทียบกับของประเทศเกาหลีใต้ คงจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะ เขาแข่งขันในระดับโลก แต่เราคงต้องแข่งขันกับตัวเองไปก่อนแล้วพร้อมเมื่อไรจึงค่อยไปแข่งกับเพื่อนบ้าน อย่างเช่น เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ต่อไป และแผนแม่บทของเราเขียนได้ดีมาก ครอบคลุมแทบทุกเรื่อง ไม่มีหลุด แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็คือขาดโฟกัส ไม่ได้เน้นเรื่องใดเป็นพิเศษที่เราเก่งและมีศักยภาพจริง ๆ เรื่องนี้เพราะเป็นวัฒนธรรมของคนไทย ที่เราสามัคคี ทุกคนมีส่วนร่วม และทุกคนเกรงใจกัน ต่างจากเกาหลีใต้ที่ระบุชัดว่าจะเน้นเรื่องอุตสาหกรรมไอที เพราะเขามีซัมซุงและแอลจีเป็นบริษัทที่รองรับและเป็นผู้นำในด้านนี้ แต่ในบ้านเรา ภาคอุตสาหกรรมไม่ยอมลงทุนทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน มีบางบริษัทใหญ่ๆ จริงๆ เท่านั้นที่ลงทุนวิจัยแต่ก็อยู่ในวงจำกัด คิดแต่ว่าเงินบาทเราแข็ง กำไรลดลง จะทำให้การส่งออกแย่ลง ต่างรอให้สินค้าราคาถูกและเริ่มจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากจีนเข้ามาแข่งขันและฆ่าเราในที่สุด ภาคอุตสาหกรรมก็ผลักภาระการวิจัยให้แก่ภาครัฐ หน่วยงานของรัฐต้องทำหน้าที่วิจัยแบบไร้ทิศทาง โดยที่งบประมาณวิจัยก็ได้อย่างจำกัด เพราะต้องนำไปสร้างผลงานด้านอื่นๆ ที่จะได้ผลงานเร็วๆ และชัดเจน และบางครั้งก็เร่งด่วนและฉุกเฉิน เช่น ซื้อของแจก สร้างถนน สร้างตึกใหม่ บรรเทาความเดือดร้อนจากสาธารณภัย ฯลฯ นอกจากนี้ระบบวิจัยของเราก็ยังอิงกับระบบราชการค่อนข้างมาก ถึงแม้จะพยายามที่จะทำให้รวดเร็ว และเน้นให้บริการลูกค้ามากขึ้น แรงจูงใจและเงินเดือนบุคลากรด้านวิจัยก็ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหรือน้อยกว่าการทำงานในภาคเอกชน แถมยังไม่บันเทิงเริงใจ ไม่เหมือนนักร้อง ดารา ดีเจ จึงไม่จูงใจให้ผู้คนมาประกอบสัมมาอาชีพนี้ ความหวังหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่คือ หวังว่ารัฐบาลขิงแก่นี้ นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ. ดร. ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ ซึ่งเข้าใจปัญหานี้เป็นอย่างดี (เพราะท่านเป็นนักวิจัยมาก่อนจะรับตำแหน่งรัฐมนตรี) จะหาหนทางพลิกสถานการณ์ให้เราหลุดจากวงจรอุบาทว์นี้โดยเร็วที่สุด ต้องมีนโยบายอย่างแข็งขันให้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหัวรถจักรที่จะนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างพอเพียง เพื่อที่วงการวิจัยด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีของเราจะได้แข็งแรง หายป่วย และเริ่มแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น