วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์(1)

พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์: อนาคตของไอทียุคหน้า
ดร. อดิสร เตือนตรานนท์
ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
กรุงเทพธุรกิจ 2008 March, 7

เช้าขึ้นมา เรานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็น “พลาสติก” ไม่ใช่กระดาษ อาจจะเป็นเรื่องปกติที่เราคุ้นเคยกันในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากเรามีจอภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่โค้งงอได้หรือที่ม้วนเก็บได้ ชิปอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำจากซิลิกอนที่เปราะบาง แตกหักง่าย ใช้ผลิตจอภาพแบบเดิมบนหน้าจอโทรศัพท์มือถืออาจต้องหมดยุค เพราะแนวโน้มอุปกรณ์แบบพกพากำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์แบบพกพา เครื่องเล่นเพลง MP3 เครื่องเล่นภาพยนตร์แบบพกพา อุปกรณ์เหล่านี้จะมีขนาดที่เล็กลง แต่ยังต้องการส่วนจอแสดงผลที่ใหญ่เพื่อแสดงข้อมูลแบบมัลติมีเดียได้สะใจวัยรุ่น ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยอิเล็กทรอนิกส์แบบพลาสติก (Plastic Electronics)
พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์เป็นการประยุกต์ใช้โพลิเมอร์นำไฟฟ้าที่เป็นโมเลกุลอินทรีย์มาสร้างเป็นพลาสติกที่สามารถนำไฟฟ้าได้และนำมาสร้างเป็นวงจรหรือเป็นฐานรอง (Substrate) สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคหน้า โดยวิธีการสร้างแบบใหม่ที่ใช้การพิมพ์เป็นหลัก ด้วยการพิมพ์หมึกหรือโพลิเมอร์ที่นำไฟฟ้าลงบนลายวงจรด้วยเทคนิคการพิมพ์แบบเดียวกับหนังสือพิมพ์ที่ท่านอ่านอยู่นี้ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์แบบออฟเซ็ต (offset) หรือแบบอิงค์เจ็ต (inkjet) ก็ตาม การสร้างชิปวงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่นี้ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์การใช้งานแบบใหม่ๆ ที่ชิปอิเล็กทรอนิกส์แบบที่เราคุ้นเคยไม่สามารถทำได้ เช่น RFID ที่มีราคาถูกสามารถใช้แล้วทิ้งได้ จอภาพแบบใหม่ที่สามารถโค้งงอหรือม้วนได้ เซลล์แสงอาทิตย์ที่สามารถพิมพ์ลงบนหลังคาหรือพนังได้โดยตรง เป็นต้น
ในอดีตไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างด้วยการพิมพ์ลงบนแผ่นพลาสติกเป็นเพียงความหวังและความคิดเชิงทฤษฎี และมีเพียงต้นแบบที่สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ในปัจจุบันชิปอิเล็กทรอนิกส์แบบพลาสติกถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการสร้างจอภาพขนาดเล็กที่เรียกว่า OLED หรือ Organic Light Emitting Diode (OLED) ซึ่งนำไปใช้ในกล้องดิจิตอลหรือโทรศัพท์มือถือทำให้ได้ภาพที่คมชัด มีสีสรรงดงามและประหยัดไฟ การสร้างวงจรกำเนิดเสียงติดบนการ์ดอวยพรซึ่งมีราคาถูกมากและกินไฟน้อยมาก และเริ่มนำมาใช้พิมพ์วงจร RFID บนสติกเกอร์ใช้ติดบนกล่องพัสดุ ซึ่งมีราคาถูกกว่าชิปแบบซิลิกอนหลายเท่าตัว จึงทำให้ผู้ใช้งานมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนมาใช้ชิปแบบใหม่ ในปัจจุบันวงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบพลาสติกจะทำให้เราสร้างจอภาพขนาดใหญ่ขึ้น บางลง กินไฟน้อยลงและต้นทุนถูกลงได้ จอโทรทัศน์แบบแบน (Flat screen TV) ที่สร้างบนพลาสติกจึงมีความเป็นไปได้สูงและเปิดแนวคิดใหม่ของการโฆษณากลางแจ้ง จอโค้งงอได้ทำให้สามารถนำไปพันรอบเสาเพื่อแสดงภาพโฆษณาได้ นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถแสดงข้อมูลเหมือนจอภาพบนกล่องหรือหีบห่อ ซึ่งอาจจะเป็นโฆษณาสินค้า บอกข้อมูลสินค้าหรือส่งข้อมูลไปยังสต็อกสินค้าก็อาจจะปฏิวัติอุตสาหกรรมการค้าส่งและค้าปลีก ดังนั้นอุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นที่น่าสนใจและมีการลงทุนสูงมากทั่วโลก แล้วผู้ประกอบการไทยจะตกขบวนรถไฟนี้หรือ ติดตามต่อสัปดาห์หน้าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น